พระพุทธรูปทวารวดี ตอนปลาย

   3. ทวารวดีที่มีศิลปะเขมรเข้ามาปะปน พุทธศตวรรษที่ 16

            ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูป  ได้แก่  พระพักตร์ค่อนข้างยาว  พระนลาฏกว้าง  พระหนุเสี้ยม  ขมวดพระเกศาสูงใหญ่  พระขนงทำเป็นสันนูนต่อกัน  พระเนตรพองโต(โปน)อย่างมาก  เจาะเม็ดพระเนตรเป็นรูจนเป็นลักษณะเด่นทำให้ดูน่ากลัว  พระโอษฐ์หนาและแบะ  ลักษณะที่สำคัญคือ  มีพระมัสสุ  ซึ่งน่าจะมาจากศิลปะเขมรอย่างชัดเจนที่สุด

 

ทวารวดี3

ที่มา :: บรรยายโดย รศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์

รูปประกอบ :: Primploy

พระพุทธรูปทวารวดี ตอนกลาง

     2. เป็นแบบพื้นเมือง แต่มีการแต่งกายเหมือนอินเดีย เรียกว่า อิทธิพลแบบท้องถิ่นซึ่งพบมากพุทธศตวรรษที่ 13-15 ลักษณะโดยรวม  ได้แก่  ห่มคลุมที่ยังรักษารูปแบบของคุปตะอยู่  พระพักตร์เล็ก  พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา  และมีสันยกสูงขึ้น  พระเนตรโปนและเปิด  พระโอษฐ์แบะกว้าง  และแนวพระโอษฐ์เป็นเส้นตรง  ขอบพระโอษฐ์หนา  ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยขนาดใหญ่และแบนแนบติดหนังศีรษะ  ลักษณะของชายผ้าแสดงให้เห็นสามส่วน  ได้แก่ 

            ส่วนแรก  ขอบสบงซึ่งตกลงมาตรงๆถึงข้อพระบาท  มีริ้วและจีบด้านข้างเล็กน้อย

            ส่วนที่สอง  ขอบจีวรด้านหลังมักจะอยู่ระดับเดียวหรือสั้นกว่าขอบสบงเล็กน้อย

            ส่วนที่สาม  ขอบจีวรด้านหน้าจะโค้งเป็นเส้นต่อจากด้านหลังพาดพระกรทั้งสองข้าง  และตกลงเบื้องหน้าเป็นวงโค้งเหนือขอบสบง  บางแห่งอาจอยู่กึ่งกลางพระองค์  หรือระดับเดียวกับพระชานุ

ทวารวดี2

ที่มา :: บรรยายโดย รศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์